ประวัติการจัดตั้งวิทยาเขตขอนแก่น

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ พระราชทานนามว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” และได้เปิดดำเนินการศึกษาเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๒ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มีความสามารถในการรักษา และเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทัตตมหาเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในสมัยนั้น จึงได้ประชุมพระเถรานุเถระฝ่ายมหานิกาย จำนวน ๕๗ รูป เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๐ และประกาศให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ดำเนินการจัดการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงในระดับมหาวิทยาลัย เปิดสอนระดับปริญญาตรี คณะพุทธศาสตร์เป็นคณะแรกเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๐ และมีพัฒนาการตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ.๒๕๐๐ ปรับเปลี่ยนระบบการวัดผลมาเป็นระบบหน่วยกิต กำหนดให้นิสิตต้องศึกษาอย่างน้อย ๑๒๖ หน่วยกิต และปฏิบัติศาสนกิจ ๑ ปีก่อนรับปริญญาบัตร

พ.ศ.๒๕๐๕ เปิดสอนคณะครุศาสตร์

พ.ศ.๒๕๐๖ เปิดสอนหลักสูตรแผนกอบรมครูศาสนศึกษา ระดับประกาศนียบัตรและเปิดสอน คณะเอเซียอาคเณย์และเปลี่ยนเป็นคณะมานุษยสงเคราะห์ศาสตร์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖

พ.ศ.๒๕๑๒ ปรับหลักสูตรแผนกอบรมครูศาสนศึกษาเป็นวิทยาลัยครูศาสนศึกษา และปรับเปลี่ยนหน่วยกิตเป็น ๒๐๐ หน่วยกิต การจัดการเรียนการสอนช่วง ๒ ทศวรรษแรก ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์และรัฐเท่าที่ควร ทำให้ประสบปัญหาด้านสถานะของมหาวิทยาลัย และงบประมาณเป็นอย่างมาก แต่ก็สามารถจัดการศึกษามาได้อย่างต่อเนื่อง

พ.ศ.๒๕๑๒ คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม ได้ออกคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องการศึกษาของมหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๑๒ และเรื่องการศึกษาของสงฆ์ พ.ศ.๒๕๑๒ คำสั่งทั้ง ๒ ฉบับ ส่งผลให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีสถานะเป็นสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยโดยสมบูรณ์

พ.ศ.๒๕๒๑ เริ่มขยายการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังส่วนภูมิภาค เริ่มจัดตั้งวิทยาเขตขึ้นทุกภูมิภาคของประเทศไทย

พ.ศ.๒๕๒๖ มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรระดับปริญญาตรีใหม่ โดยลดจำนวนหน่วยกิตจาก ๒๐๐ หน่วยกิต ให้เหลือเพียง ๑๕๐ หน่วยกิต และปรับปรุงระบบการบริหารวิชาการใหม่ โดยแบ่งออก เป็น ๔ คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์

พ.ศ.๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้พะราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา มีผลทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญา เช่นเดียวกับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับเดียวกันจากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ที่รัฐให้การรับรอง

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น (Mahachulalongkorn rajavidyalay University, Khon Kaen Campus) ตั้งอยู่เลขที่ ๓๐ หมู่ ๑ บ้านโคกสี ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีพัฒนาการมาโดยลำดับในช่วง ๓ ทศวรรษที่ผ่านมา ดังนี้

ทศวรรษที่ ๑ : ทศวรรษแห่งการก่อตั้ง (พ.ศ. ๒๕๒๘ - ๒๕๓๘)

ทศวรรษที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ คณะสงฆ์จังหวัดขอนแก่น ได้ดำริร่วมกันในการจัดตั้งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตขอนแก่น มีเหตุผลสืบเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตราพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗ (ตามราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้าที่ ๔ เล่มที่ ๑๔๐) ได้กำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เทียบขั้นบัณฑิตด้านสังคมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยฝ่ายอาณาจักร สมควรกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ให้สูงเท่ากับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยฝ่ายอาณาจักร

ในการก่อตั้งวิทยาเขตขอนแก่น ได้อาศัยระเบียบมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ว่าด้วยวิทยาเขต และตามคำสั่งเจ้าสำนักเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา พระราชสารเวที (เหล่ว สุมโน) เจ้าอาวาสวัดธาตุ (พระอารามหลวง) และรองเจ้าคณะภาค ๙ ในขณะนั้น มีดำริให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๙ ดังคำปรารภในการจัดตั้งวิทยาเขตขอนแก่น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร ป.ธ.๘, อัครมหาบัณฑิต) นายกสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และพระเถรานุเถระทุกระดับในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดขอนแก่น ดังหนังสือขอเปิดมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น อนุมัติให้จัดตั้งวิทยาเขตขอนแก่น เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๘ ตามหนังสือ คำสั่งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ ๘/๒๕๒๙ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๘ ลงนามโดยพระมหานคร เขมปาลี เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีกำหนดการพิธีเปิดป้ายวิทยาเขตขอนแก่น ใช้ชื่อเป็นทางการว่า "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตขอนแก่น" ได้มีเจ้าคณะพระสังฆาธิการที่บริจาคอุปถัมภ์การก่อตั้งและบำรุงวิทยาเขตขอนแก่น, มีผู้บริจาควัสดุครุภัณฑ์ประจำวิทยาเขตขอนแก่น, ผู้บริจาคซื้อเครื่องเสียงและจัดพิมพ์หนังสืออนุสรณ์พิธีเปิดป้ายวิทยาเขตขอนแก่น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) เมตตามาเป็นประธานเปิดป้ายมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๐ ณ วัดธาตุ พระอารามหลวงอีกด้วย

มหาวิทยาลัยได้มีการแต่งตั้งกรรมการสภาวิทยาเขตขอนแก่น แต่งตั้งพระราชสารเวที เป็นผู้รักษาการตำแหน่งรองอธิการบดี และพระมหาโสวิทย์ โกวิโท เป็นผู้รักษาการตำแหน่งคณบดีคณะพุทธศาสตร์, พร้อมทั้งคณะผู้บริหาร-อาจารย์ประจำและเจ้าหน้าที่อาจารย์บรรยายพิเศษ ได้ดำเนินการเปิดภาคการศึกษาครั้งแรกวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ในคณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาศาสนา) มีนิสิตรุ่นแรก จำนวน ๒๑ รูป เป็นปฐมฤกษ์ และนิสิตชั้นปีที่ ๑, ๒ ปีการศึกษา ๒๕๓๐) เข้ามาศึกษาเป็นนิสิตตามลำดับจนถึงปัจจุบัน


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)

ทศวรรษที่ ๒ : ทศวรรษของการขยายตัวต่อเนื่อง (พ.ศ.๒๕๓๙ - ๒๕๔๙)

พ.ศ.๒๕๔๐ แม้มหาวิทยาลัยจะมีพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะของผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๒๗ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการรับรองสถานะภาพ ความเป็นนิติบุคคลของมหาวิทยาลัยเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป จึงทำให้ไม่สามารถขยายการจัดการศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ตามวัตถุประสงค์และนโยบายของมหาวิทยาลัยได้ จึงมีความพยายามในการผลักดันให้มีการดำเนินการตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นการเฉพาะ โดยใช้เวลาในการดำเนินการเป็นเวลานานถึง ๕๐ ปี จนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๔๐ รัฐบาล ฯพณฯ พล.อ ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เสนอให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๐ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีพระราชบัญญัติรับรองสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐในกำกับของรัฐบาลและเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เน้นจัดการศึกษาวิชาการด้านพระพุทธศาสนา

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ในช่วงทศวรรษที่ ๒ ได้มีการขยายตัวทั้งในด้านหลักสูตรการเรียนการสอนและด้านการบริหารจัดการ การขยายเขตการศึกษาทั้งในระดับวิทยาลัยสงฆ์และระดับห้องเรียน ดังนี้

พุทธศักราช ๒๕๓๙ ได้รับอนุมัติการขยายเขตการศึกษาระดับวิทยาลัยสงฆ์ที่วัดศรีวิชัยวนาราม ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย เปิดดำเนินการสอนสาขาวิชาหลักสูตรและการสอนภาษาไทย มีนิสิตรุ่นแรกจำนวน ๓๕ รูป

พุทธศักราช ๒๕๔๒ ได้รับอนุมัติการขยายเขตการศึกษาระดับห้องเรียนโดยในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ ๖/๒๕๔๒ วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๒ จึงได้ดำเนินการก่อตั้งขึ้นที่วัดบูรพาภิราม (พระอารามหลวง) ถนนผดุงพานิช ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เปิดดำเนินการสาขาวิชาศาสนาและปรัชญา มีนิสิตรุ่นแรก จำนวน ๒๙ รูป ปัจจุบันได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยสงฆ์ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘

พุทธศักราช ๒๕๔๙ ได้รับอนุมัติการขยายเขตการศึกษาระดับหน่วยวิทยบริการมหาสารคาม ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๕๗๗ วัดอภิสิทธิ์ ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เปิดดำเนินการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาศาสนาและปรัชญา มีนิสิตรุ่นแรก จำนวน ๔๑ รูป ปัจจุบันได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยสงฆ์มหาสารคาม เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑

ขณะเดียวกัน ได้ขยายเขตการศึกษาระดับศูนย์การศึกษาตั้งอยู่ที่วัดกลาง (พระอารามหลวง) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบริหารกิจการคณะสงฆ์ (ป.บส.) มีนิสิตรุ่นแรก จำนวน ๕๐ รูป นอกจากนี้ ยังได้รับอนุมัติให้เปิดดำเนินการจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา จัดตั้งห้องเรียนบัณฑิตศึกษา วิทยาเขตขอนแก่น เบื้องต้นได้เปิดการเรียนการสอนสาขาวิชาพระพุทธศาสนา หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต เป็นรุ่นแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘

ทศวรรษที่ ๓ : ก้าวย่างสู่การเป็นวิทยาเขตที่เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคอินโดจีน (พ.ศ. ๒๕๕๐ - ๒๕๖๐)

ในทศวรรษที่ ๓ เป็นทศวรรษก้าวย่างเป็นวิทยาเขตในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคอินโดจีน ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

พุทธศักราช ๒๕๕๐ เนื่องจากมีนิสิตเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้อาคารเรียนที่มีอยู่เดิมที่วัดธาตุ (พระอารามหลวง) ไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน จึงย้ายที่ทำการไปใช้ที่ดินโคกสร้างหล่มวัดป่าศรีเจริญธรรม เป็นที่ตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ ประกอบด้วยอาคารเรียน อาคารหอสมุดสารสนเทศ อาคารสถานีวิทยุกระจายเสียง และอาคารหอประชุม และเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดป้ายมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น

ด้านจัดการเรียนการสอน ได้ขออนุมัติหลักสูตรเพิ่มเติมอีกหลายสาขาวิชา และกำหนดวิสัยทัศน์ให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่ง “การจัดการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคอินโดจีน (Education Arrangement and Buddhism Propagation in the Northeast of Thailand and indo-China Region)” บนพื้นฐานของความรับผิดชอบในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจ และสังคม นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสถานีวิทยุเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพื้นที่รวมถึงการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

พุทธศักราช ๒๕๕๑ จัดตั้งศูนย์อำนวยการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน เพื่ออำนวยการในการจัดส่งรวมถึงดูแลพระภิกษุสามเณรที่ปฏิบัติหน้าที่พระสอนศีลธรรมในโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่น

พุทธศักราช ๒๕๕๒ ได้รับอนุมัติให้เปิดการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาเอก สาขาวิชาพระพุทธศาสนา หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต

พุทธศักราช ๒๕๕๓ เพื่อประโยชน์ในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงได้จัดตั้ง ๒ หน่วยงาน คือ ศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ และศูนย์บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและอาเซียน

พุทธศักราช ๒๕๕๔ จัดตั้งสถานีวิทยุเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นสถานีวิทยุคู่ขนานกับสถานีวิทยุหลักของวิทยาเขตขอนแก่น ส่งผลให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนามีความเป็นเครือข่ายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้การประชาสัมพันธ์และเผยแผ่พระพุทธศาสนามีประสิทธิภาพมากขึ้น

พุทธศักราช ๒๕๕๕ ได้จัดตั้งหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ ศูนย์ภาษาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอาเซียน ให้เป็นศูนย์ในการถ่ายถอดภาษา ภูมิปัญญา รวมถึงวัฒนธรรมของท้องถิ่นในอาเซียนไว้ด้วย ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นศูนย์ในการขับเคลื่อนประเด็นวัฒนธรรมท้องถิ่นในอาเซียน ที่ต้องการชูประเด็นสำคัญด้านวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาในอาเซียน เพื่อขับเคลื่อนสื่อวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาในภูมิภาคอินโดจีนต่อไป

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ได้จัดการศึกษาทั้งในหลักสูตรระดับประกาศนียบัตร ระดับปริญญาตรี โท และเอก เพื่อให้ผู้สมัครสามารถเลือกเรียนสาขาวิชาที่สนใจในสาขาวิชาต่างๆ ดังนี้

ระดับประกาศนียบัตร (เทียบเท่า ม.๖)
      ๑. หลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์ (ป.บส.)
      ๒. หลักสูตรประกาศนียบัตรการสอนศีลธรรมในโรงเรียน (ป.สศ.)
      ๓. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิปัสสนาภาวนา (ป.วน.)

ระดับปริญญาตรี
      ๔. หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) สาขาวิชาพระพุทธศาสนา
      ๕. หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) สาขาวิชาปรัชญา
      ๖. หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) สาขาวิชาสังคมศึกษา
      ๗. หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) สาขาวิชาการสอนภาษาไทย
      ๘. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
      ๙. หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต (ร.บ.) สาขาวิชารัฐศาสตร์
      ๑๐. หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (รป.บ.) สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
      ๑๑. หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) สาขาวิชานิติศาสตร์

ระดับปริญญาโท
      ๑๒. หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พธ.ม.) สาขาวิชาพระพุทธศาสนา
      ๑๓. หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พธ.ม.) สาขาวิชาปรัชญา
      ๑๔. หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต (ค.ม.) สาขาวิชาพุทธบริหารการศึกษา
      ๑๕. หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต (ค.ม.) สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา
      ๑๖. หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (ร.ม.) สาขาวิชารัฐศาสตร์
      ๑๗. หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต (ค.ม.) สาขาวิชาการสอนภาษาไทย

ระดับปริญญาเอก
      ๑๘. หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พธ.ด.) สาขาวิชาพระพุทธศาสนา
      ๑๙. หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พธ.ด.) สาขาวิชาปรัชญา
      ๒๐. หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ค.ด.) สาขาวิชาพุทธบริหารการศึกษา
      ๒๑. หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ค.ด.) สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา
      ๒๒. หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ค.ด.) สาขาวิชาการสอนภาษาไทย


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)