กิจกรรมวันอาสาฬหบูชา-วันเข้าพรรษา ณ วัดนันทิการาม

    วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ คณะสงฆ์วัดนันทิการาม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีพระเดชพระคุณพระโสภณพัฒนบัณฑิต รศ.ดร. รองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น และปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่ง รักษาการเจ้าอาวาสวัดนันทิการาม รับการถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน จากพุทธศาสนิกชนตลอดทั้งวัน งานนี้มีคณะ ครู นักเรียน จากโรงเรียนเทศบาลวัดกลาง และโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย กว่า ๓,๐๐๐ คน ร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา ในเทศกาลวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา จากการสอบถามน้องๆ นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมบอกว่า “ดีใจที่ได้เกิดมาเป็นชาวพุทธ ศาสนาพุทธสอนให้เราเป็นคนดี มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีคุณธรรม จริยธรรม และเรายังสามารถนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า นำไปปฏิบัติตนในการเรียน เช่นการทำสมาธิ การสวดมนต์ไหว้พระก่อนเลิกเรียน ทำให้เราได้ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ในทุกๆวันค่ะ ” เกร็ดความรู้ วันอาสาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ ๒ เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ จนพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ เป็นวันที่มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบเป็นองค์รัตนตรัยครั้งแรกในโลก ซึ่งพระสงฆ์องค์แรกคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ และปฐมเทศนาที่ทรงแสดงคือ ธรรมจักกัปวัตนสูตร หมายถึง พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป นั่นคือ ธรรมะของพระพุทธองค์เหมือนวงล้อธรรมที่ได้เริ่มเคลื่อนแล้วจากจุดเริ่มต้นในวันนี้ สำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน คงทราบกันดีกว่า ทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี จะตรงกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกหนึ่งวัน นั่นคือ “วันอาสาฬหบูชา” ซึ่งในปี ๒๕๖๐ นี้ วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเสาร์ ที่ ๘ กรกฎาคม (ขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๘) ทั้งนี้ คำว่า “อาสาฬหบูชา” สามารถอ่านได้ ๒ แบบ คือ อา-สาน-หะ-บู-ชา หรือ อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา ซึ่งจะประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ อาสาฬห ที่แปลว่า เดือน ๘ ทางจันทรคติ กับคำว่า บูชา ที่แปลว่า การบูชา เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน ๘ หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน ๘ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม

   ซึ่งหลังจากปฐมเทศนา หรือเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์ทรงแสดงจบลง พระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” พระโกณฑัญญะจึงได้เป็น พระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบทตามลำดับ วันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษา เป็นวันเริ่มต้นที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องอธิษฐานจำพรรษาอยู่กับที่ ไม่เที่ยวจาริกไปยังที่ต่าง ๆ เป็นเวลา ๓ เดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ของทุกปี ซึ่งการให้จำพรรษาในสมัยพุทธกาล ก็เพื่อป้องกันมิให้พระสงฆ์ไปเหยียบย่ำข้าว และพืชผลของชาวบ้านเสียหาย ต่อมาถือเป็นโอกาสดีที่พระภิกษุจะได้มาอยู่ร่วมกันเพื่อศึกษาธรรมะ ส่วนชาวบ้านก็ได้เข้าวัดถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรม และเจริญภาวนาเพื่อเพิ่มพูนบุญกุศลโดยมีพระภิกษุเป็นแบบอย่าง ครั้นต่อมาจึงเกิดประเพณีนิยมบวช ๓ เดือน ขณะเดียวกัน ก็มีพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งนิยมถือเอาวันเข้าพรรษาเป็นวันเริ่ม ต้นที่จะอธิฐานจิตลด ละ ความชั่วทั้งหลาย และทำความดีเพิ่มขึ้น

   สำหรับประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวันนี้คือ การถวายผ้าอาบน้ำฝนและการแห่งถวายเทียนพรรษา เป็นวันที่พระภิกษุพ้นข้อกำหนดทางวินัยที่จะอยู่จำพรรษา นับตั้งแต่วันเข้าพรรษาเป็นต้นมา และสามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้ ซึ่งจะมีประเพณีที่เกี่ยวข้อง คือ การตักบาตรเทโวโรหนะ คือวันถัดจากวันออกพรรษา ๑ วัน ซึ่งพุทธศาสนิกชนมักจะตักบาตรในวันนี้ ด้วยนิยมว่าเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จไปโปรดพุทธมารดาอยู่ ๓ เดือน และถัดจากออกพรรษา ๑ เดือน ถือเป็น เทศกาลกฐิน ที่จะทำบุญถวายผ้ากฐินตามวัดต่าง ๆ “เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี เรียกว่า “ปุริมพรรษา” ถ้าปีใดมีเดือน ๘ สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า “ปัจฉิมพรรษา” เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน ๗ คืน เรียกว่า “สัตตาหะ” หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน ๗ วัน ได้แก่ ๑.การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย ๒.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ ๓.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด ๔.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้ นอกจากนี้หากระหว่างเดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า “วิหาร” แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้ง ถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า “อาราม” ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา…

ภาพ,ข่าว โดย งานประชาสัมพันธ์องค์กร มจร.วิทยาเขตขอนแก่น
มีผู้เข้าชมแล้วจำนวน : 352 ครั้ง