พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงสังเวชนียสถาน ๔ ตำบลว่าเป็นสถานที่ควรจะดูจะเห็น ควรจะให้เกิดสังเวชสำหรับพุทธบริษัทผู้มีศรัทธา สถานทั้ง ๔ นั้น คือ
๑. สถานที่ประสูติของพระตถาคต
๒. สถานที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระตถาคต
๓. สถานที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนาของพระตถาคต
๔. สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระตถาคต
สถานที่ทั้ง ๔ ตำบลนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงประโยชน์ไว้ว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และ
อุบาสิกาผู้มีศรัทธาพากันมายังสถาน ๔ ตำบลนี้ด้วยความเชื่อ จักเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส เมื่อทำกาลกิริยาลง ชนเหล่านั้นจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
นอกจากสถานที่ ๔ ตำบลดังกล่าวแล้วนี้ว่าเป็นสถานที่พุทธบริษัทจะพึงเห็นจะพึงดูเพื่อให้เกิดบุญกุศล ยังมีสิ่งที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธบริษัทผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะได้ยึดเป็นหลักเพื่อกราบไหว้ และเคารพบูชา อีกอย่างหนึ่ง คือ เจดีย์ที่สร้างขึ้นในพระพุทธศาสนาซึ่งมีผู้จำแนกไว้เป็น ๔ ประเภท คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ และอุทเทสิกเจดีย์
ธาตุเจดีย์ หมายถึงพระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๘ ส่วนที่โทณพราหมณ์ได้แบ่งปันแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานบรรจุไว้ในพระสถูป เพื่อเป็นที่นมัสการกราบไหว้ ทำสักการบูชา เรียกว่า “ธาตุเจดีย์”
บริโภคเจดีย์ หมายถึง ตุมพสถูป อังคารสถูปและสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ตำบลเรียกว่า “บริโภคเจดีย์”
ธรรมเจดีย์ หมายถึง พระธรรมคำสั่งสอนที่จารึกในใบลาน ซึ่งเป็นพระพุทธวจนปริยัติธรรมทั้งสิ้น มีปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น แล้วบรรจุเข้าไว้ภายในพระธาตุประดิษฐานเป็นพระสถูปตั้งไว้เป็นปูชนียวัตถุเพื่อสักการบูชากราบไหว้ เรียกว่า “ธรรมเจดีย์”
อุทเทสิกเจดีย์ หมายถึง เจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศต่อพระพุทธเจ้า ไม่กำหนดว่าจะต้องทำเป็นอย่างไร คือถ้ามิได้เป็นพระธาตุเจดีย์ หรือบริโภคเจดีย์ หรือธรรมเจดีย์แล้วก็เรียก “อุทเทสิกเจดีย์” ทั้งสิ้น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ รูปสลักเกี่ยวกับพุทธประวัติ และพุทธรูป ก็นับเป็นอุทเทสิกเจดีย์ด้วย
บรรดาศิลปะโบราณวัตถุสถานเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนานั้น ได้พบหลักฐานว่าเริ่มเกิดมีขึ้นในประเทศอินเดียครั้งสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชประมาณ พ.ศ. ๒๗๐ - ๓๑๑ ซึ่งเป็นรัชกาลที่ ๓ ใน โมริยราชวงศ์ ผู้ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนา และได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ถึงกับได้ทรงยกพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นศาสนาสำหรับประเทศ และได้ทรงสร้างพุทธเจดีย์สถานไว้หลายแห่ง แต่ในอินเดียสมัยนั้นยังมีข้อห้ามมิให้ทำรูปคนสำหรับเคารพบูชา คือ ไม่ทำรูปพระพุทธองค์เป็นรูปมนุษย์ จึงทำแต่รูปอื่นเป็นสัญลักษณ์ขึ้นแทนเช่นปางมหาภิเนษกรมณ์ ก็ทำเป็นรูปม้าผูกเครื่องไม่มีคนขี่ ปางประทานปฐมเทศนา ก็ทำเป็นรูปธรรมจักรีรูปกวางหมอบอันหมายความว่า ทรงแสดงธรรมจักรในมฤคทายวัน ปางประสูติก็ทำเป็นพระนางเจ้าศิริมหามายากำลังประทับนั่งหรือยืนอยู่บนดอกบัว มีช้างสองเชือกถือเต้าน้ำ หรือบูรณฆฏะเทลงบนพระเศียรของพระนางผู้กษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ที่พระมหาสถูปสาญจี
รูปพระพุทธองค์ที่ทำเป็นรูปมนุษย์เกิดขึ้นภายหลังพุทธศตวรรษที่ ๖ เล็กน้อย เป็นฝีมือช่างแคว้นคันธารราฐครั้งแรกเมื่อราวพุทธศักราช ๓๗๐ กล่าวคือ เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดาเอกของโลก ผู้ให้กำเนิดพระพุทธศาสนาได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วต่อมาพวกโยนก(กรีก) ที่นับถือพุทธศาสนาได้เริ่มคิดประดิษฐ์สร้างพระพุทธรูปขึ้น โดยถือตามแบบรูปที่เคารพที่ตนเคยทำมาแล้ว เพื่อจะให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้เคารพบูชากราบไหว้พระพุทธรูปแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบต่อไป ปัจจุบันแคว้นดังกล่าวอยู่ในเขตปากีสถานและอาฟกานิสถาน กับที่เป็นฝีมือช่างเมืองมธุรา หลังจากนั้นเพียงเล็กน้อยก็เกิดสกุลช่างขึ้นสกุลหนึ่ง ณ เมืองอมรวดี ทางภาคใต้ของอินเดีย ปราชญ์บางท่านกล่าวว่าพระพุทธรูปแรกเกิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งครองราชย์สมบัติระหว่าง พ.ศ. ๖๖๒-๗๐๖ และนับเป็นฝีมือช่างกรีกโรมัน ซึ่งเชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลและได้ช่างผู้ประดิษฐ์พระพุทธรูปมาจากทางเอเชียตะวันตก
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า เรื่องที่จะเกิดมีพระพุทธรูปขึ้นนั้น มีในหนังสือเรื่องตำนานพระแก่นจันทร์กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปประทานเทศนาโปรดพระมารดาต้องอยู่ในดาวดึงส์สวรรค์พรรษาหนึ่งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้ครองโกศลชนบทมิได้เห็นพระพุทธองค์เป็นเวลาช้านาน ก็มีความรัญจวนคิดถึงพระพุทธองค์ จึงตรัสสั่งให้นายช่างทำพระพุทธรูปขึ้นด้วยแก่นจันทร์แดง ประดิษฐานไว้เหนืออาสน์ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ ครั้นพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์สวรรค์มาถึงที่ประทับ ด้วยพระบรมพุทธานุภาพบันดาลให้พระพุทธรูปแก่นจันทร์เลื่อนหลีกไปจากพระพุทธอาสน์ แต่พระตถาคตเจ้าตรัสให้รักษาพระพุทธรูปนั้นไว้เพื่อสาธุชนจะได้ใช้เป็นแบบอย่างสร้างพระพุทธรูปเมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว ความที่กล่าวในตำนานนั้นประสงค์จะอ้างว่าพระพุทธรูปแก่นจันทร์องค์นั้นเป็นต้นแบบอย่างของพระพุทธรูป ซึ่งสร้างกันต่อมาในภายหลังหรืออีกนัยหนึ่งก็อ้างว่า พระพุทธรูปมีขึ้นโดยพระบรมพุทธานุญาตและเหมือนพระพุทธองค์ เพราะตัวอย่างสร้างขึ้นแต่ในครั้งพุทธกาล
นักปราชญ์ในชั้นหลังสอบเรื่องพงศาวดารประกอบกับวิจารณ์โบราณวัตถุที่ตรวจพบในอินเดียได้ความว่า พระพุทธรูปเป็นของพวกโยนก (ฝรั่งชาติกรีก) ซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เริ่มประดิษฐ์ขึ้นในคันธารราฐเมื่อราว พ.ศ. ๓๗๐ ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ทรงแผ่อาณาเขตลงมาตั้งแต่ยุโรปตลอดมาจนถึงอินโดจีนข้างฝ่ายเหนือ เมื่อพ.ศ. ๒๑๗ นั้นพวกโยนกที่เป็นแม่ทัพนายกองครองบ้านเมืองรักษาพระราชอาณาเขตตลอดมา ครั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ ผู้อื่นไม่สามารถสืบรัชทายาทได้ พระราชอาณาเขตก็กลับแยกกันออกเป็นประเทศต่างๆ ทางฝ่ายเอเชียนี้พวกโยนกที่เป็นเจ้าบ้านผ่านเมืองต่างก็ตั้งตนขึ้นเป็นอิสระได้หลายอาณาเขตด้วยกัน และชักชวนชาวโยนกพวกของตนให้มาตั้งภูมิลำเนาทำมาหากิน เป็นมูลเหตุที่จะมีพวกโยนกมาอยู่ในแผ่นดินอินเดียตอนชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเรียกกันว่า “อาณาเขตคันธารราฐ” ซึ่งขึ้นอยู่ในประเทศบัคเตรียอันมีแม่ทัพโยนกคนหนึ่งตั้งตัวเป็นเจ้า ครั้นต่อมาเจ้าบัคเตรียแพ้สงคราม ต้องตัดอาณาเขตคันธารราฐออกให้แก่พระเจ้าจันทรคุปต์ ต้นราชวงศ์โมริยะอันเป็นองค์พระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช นับแต่นั้นมาคันธารราฐก็ตกมาเป็นเมืองขึ้นของมคธรัฐ ฉะนั้น เมื่อพระเจ้าอโศกมมหาราชทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา จึงทรงให้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในคันธารราฐ และพึงสันนิษฐานว่า พวกโยนกที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้นคงเข้ารีตเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนาไม่มากก็น้อยแต่เมื่อพ้นสมัยราชวงศ์โมริยะมาถึงสมัยราชวงศ์สุงคะ ซึ่งมีอานุภาพน้อย ไม่สามารถปกครองไปถึงคันธารราฐได้เหมือนกษัตริย์องค์ก่อนๆ พวกโยนกในประเทศบัคเตรียก็ขยายอาณาเขตรุกเข้ามายังแดนอินเดียโดยลำดับ จนได้คันธารราฐและบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำสินธุ อันมีเมืองตักกสิลาเป็นต้นไว้ในอาณาเขตปกครองของตน โดยมีพระเจ้าแผ่นดินโยนกปกครองสืบมาราว พ.ศ. ๓๔๓
ประเทศคันธารราฐนั้น ชาวเมืองโดยมากนับถือพระพุทธศาสนาสืบมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช พวกโยนกตามมาชั้นหลัง เมื่อได้สมาคมสมพงศ์กับพวกชาวเมืองก็มักเข้ารีตและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แต่พระเจ้าแผ่นดินนั้นยังคงนับถือศาสนาเดินของพวกโยนก ลุมาจนถึงราว พ.ศ. ๓๖๓ พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งพระนามว่า มิลินท์ (เรียกภาษากรีกว่า เมนันเดอร์ (MENANDER) มีอานุภาพมากทำสงครามแผ่อาณาเขตเข้าไปในมัชฌิมประเทศจนถึงมคธรัฐและคงจะได้รับทราบวิธีการปกครองบ้านเมืองของพระเจ้าอโศกมหาราชและได้สมาคมคุ้นเคยกับผู้รอบรู้พระพุทธศาสนา คือ พระนาคเสนเป็นต้น จึงทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาประกาศแสดงพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งในประเทศคันธารราฐ
พุทธเจดีย์ที่สร้างขึ้นในคันธารราฐครั้งพระเจ้ามิลินท์นั้นก็เอาแบบอย่างไปจากมัชฌิมประเทศ แต่ พวกโยนกนั้นเป็นชาวต่างประเทศไม่เคยถือห้ามทำรูปเคารพ แม้คติศาสนาเดิมของพวกโยนกก็เลื่อมใสใน การสร้างเทวรูปสำหรับสักการบูชาด้วยเพราะเหตุนี้ พวกโยนกไม่ชอบแบบชาวอินเดียที่ทำรูปอย่างอื่นสมมติแทนพระพุทธรูป จึงคิดทำพระพุทธรูปขึ้นในเรื่องประเภทเจดียสถาน พระพุทธรูปจึงได้มีขึ้นในคันธารราฐเป็นครั้งแรก ระหว่าง พ.ศ. ๓๖๕ จนถึง พ.ศ.๓๘๓
ตามที่กล่าวมานั้นมีหลักฐานปรากฏอยู่ คือพระพุทธรูปที่เก่าที่สุดซึ่งตรวจพบในอินเดีย ในคันธารราฐอันเป็นแบบอย่างช่างโยนกทำทั้งนั้น แต่เมื่อมาพิจารณาดูลักษณะพระพุทธรูปคันธารราฐที่พวกโยนกทำขึ้น ก็จะเห็นว่าหาใช่เป็นพระพุทธรูปแบบโยนกเท่านั้นไม่ แต่ทำขึ้นด้วยความคิดหรือทำตามอำเภอใจของพวกโยนกก็หาไม่ การที่จะสร้างพระพุทธรูปขึ้นทีแรกนั้นน่าจะเป็นพระราชดำริของพระมหากษัตริย์แล้ว ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิต กับพวกนายช่างประชุมปรึกษาหารือกันว่าควรจะทำอย่างไร และพวกที่ปรึกษากันนั้นก็เคยมีความรู้สึกว่าเป็นการยากมิใช่น้อย เพราะการทำพระพุทธรูปนั้นมีข้อสำคัญบังคับอยู่ ๒ ประการ คือ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนั้นจะต้องคิดให้แปลกกับรูปภาพคนอื่นๆ โดยให้รู้ทันทีว่าเป็นรูปพระพุทธเจ้า และพระพุทธรูปจะต้องให้มีลักษณะงดงาม เป็นที่ชอบใจของคนทั้งหลายที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ในขณะพวกช่างคิดแบบพระพุทธรูปนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วหลายร้อยปี รูปพรรณสัณฐานของพระพุทธองค์จะเป็นอย่างไรก็ไม่มีผู้เคยเห็น มีแต่คำบอกเล่ากล่าวสืบกันมา ยิ่งกว่านั้น ยังมีตำนานกล่าวถึงพุทธลักษณะไว้ในคัมภีร์มหาปุริสลักษณะของพราหมณ์ ซึ่งแต่งไว้ก่อนพุทธกาลเป็นต้นช่างผู้คิดทำพระพุทธรูปก็ได้อาศัยคำบอกเล่าบ้าง อาศัยความรู้ทางพุทธประวัติบ้าง เช่น พระพุทธองค์เป็นกษัตริย์ชาวมัชฌิมประเทศ เสด็จออกทรงผนวชเป็นสมณศากยบุตรเป็นต้น กับได้อาศัยแบบอย่างอันปรากฏอยู่ในจารีตประเพณีของชาวมัชฌิมประเทศ ดังเช่น กิริยาที่นั่งขัดสมาธิและการครองผ้าสากาสาวพัสตร์เหมือนพระภิกษุซึ่งมีอยู่ในสมัยนั้น นอกจากนั้นพวกช่างยังได้อาศัยตามคตินิยมว่าดีงามในกระบวนการช่างของโยนกเป็นหลักความคิดในการสร้างพระพุทธรูปขึ้น ทั้งๆที่โดยทั่วไปก็รู้อยู่ว่าไม่เหมือนองค์พระพุทธเจ้า แต่ก็สามารถให้คนทั้งหลายนิยมนับถือว่าเป็นรูปพระพุทธเจ้าได้ จึงนับได้ว่าช่างผู้คิดสร้างพระพุทธรูปนั้นเป็นผู้มีความฉลาดมากทีเดียว
ลักษณะพระพุทธรูปโบราณที่ช่างโยนกคิดสร้างขึ้นในคันธารราฐ จะสังเกตได้ว่าได้ทำพระอุณาโลมไว้ที่ระหว่างพระโขนง ทำให้พระเศียรพระพุทธรูปมีเกตุมาลายาวอย่างพระเกศาของกษัตริย์ แต่ไม่มีเครื่องอิสริยาภรณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้คนดูรู้จักพระพุทธรูปได้โดยง่าย คือทำพระพุทธรูปให้ส่วนพระองค์ทรงครองผ้าอย่างสมณะ แต่ส่วนพระเศียรทำให้เหมือนอย่างพระเศียรกษัตริย์แต่ลดเครื่องอิสริยาภรณ์ออกเสีย พระพุทธรูปจึงแปลกกับรูปภาพอื่นๆ ถึงจะอยู่ปะปนกันกับรูปใครๆก็รู้ได้ว่าพระพุทธเจ้า ความคิดเช่นนี้ช่างชั้นหลังๆต่อมาไม่สามารถจะคิดแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นได้ ก็ต้องเอาแบบอย่างของชาวโยนกสร้างพระพุทธรูปสืบมาจนปัจจุบัน
ลักษณะที่ทำตามจารีตประเพณีในมัชฌิมประเทศนั้น เช่น อาการนั่งขัดสมาธิ (ช่างโยนกทำนั่งขัดสมาธิเพชรอย่างเดียว) และอาการที่ทรงครองผ้า ทำทั้งอย่างห่มดองและห่มคลุม และมักทำห่มคลุมจำหลักกลีบผ้า ให้เหมือนจริงตามกระบวนการช่างโยนก นอกจากนั้น พวกช่างโยนกก็ทำตามคติของชาวโยนกเป็นต้นว่า ดวงพระพักตร์ของพระพุทธรูปก็ทำอย่างเทวรูปที่งามของชาวโยนก พระรัศมีก็ทำอย่างประภามณฑลเป็นวงกลมอยู่ข้างหลังพระพุทธรูปตามแบบรัศมีของภาพโยนก ส่วนกิริยาท่าทางของพระพุทธรูปนั้น เนื่องจากการสร้างพระพุทธรูปตามเรื่องพระพุทธประวัติ ซึ่งตรงตอนไหน ช่างก็คิดทำกิริยาท่าทางพระพุทธรูปให้เข้ากับเรื่องตอนนั้น เช่น ตอนก่อนตรัสรู้ก็ทำนั่งซ้อนพระหัตถ์เป็นกิริยาสมาธิ ตอนเรื่องชนะมาร ก็ทำพระหัตถ์ขวามาห้อยที่พระเพลา แสดงว่าทรงชี้อ้างพระธรณีเป็นพยาน ตอนปฐมเทศนา ก็ทำจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นรูปวงกลมอันหมายความว่า “พระธรรมจักร” ตอนแสดงปาฏิหาริย์ ก็ทำเป็นพระพุทธรูปมีดอกบัวรอง พวกช่างคิดทำตามอิริยาบถตามเรื่องพุทธประวัติเรื่อยไปจนถึงเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน ก็ทำเป็นรูปพระพุทธไสยา เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดของตอนนั้นๆจะกล่าวโดยพิสดารในแต่ละปางข้างหน้า
พระพุทธรูปต่างๆตามตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆนั้นความจริงก็คือพระพุทธรูปที่คิดสร้างขึ้นตามประวัติของพระพุทธจริยาตอนหนึ่ง ๆ ที่พระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงให้ปรากฏในสมัยหนึ่งๆ ซึ่งพอจะประมวลกันเข้าในพุทธจริยา ๓ ประการ คือ
๑.พระพุทธจริยาในเวลาที่ทรงบำเพ็ญเพียร เพื่อความตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ นับตั้งแต่แรกสเด็จออกมหาภิเนษกรณ์ จนถึงเวลาตรัสรู้และเวลาเสวยวิมุตติสุข อันเป็นเวลานานถึง ๖ ปี ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระองค์โดยเฉพาะ เรียกว่า “อัตตัตถจริยา”
๒.พระพุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พระประยูรญาติโดยเฉพาะเรียกว่า “ญาตัตถจริยา”
๓.พระพุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนทั่วไป ไม่จำกัดชาติชั้น วรรณะ ตลอดเทพดา กษัตริย์ ยักษ์ ตลอดจนสัตว์ดิรัจฉาน ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก รวมทั้งการแสดงธรรม การบัญญัติพระวินัยแก่พระสงฆ์สาวก เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนา ในฐานะที่ทรงเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของก่อตั้งพระพุทธศาสนาประกาศพระธรรมคำสั่งสอนให้มั่นคงสืบไปเพื่อประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ประชากรทั่วไป เรียกว่า “โลกัตถจริยา”
พระพุทธรูปปางต่างๆที่สร้างกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลเท่าที่ค้นพบนั้นคือ