นายบุญเต็ม ชัยลา ประธานกลุ่มเกษตรเพื่อความอยู่รอด ที่อยู่ 68 หมู่ 4 บ้านดงบัง ตำบลคอนฉิม อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรด้วยตนเองมากที่สุด มุ่งมั่นกับการทำงานการเกษตรแบบพอเพียงอย่างจริงจัง ถึงวันนี้ พ่อบุญเต็มกล้าพูดอย่างเต็มปากว่า ไม่ทำอะไรเลยใน 3 ปี ก็พอมีอยู่มีกินเพราะที่ผ่านมาเหมือนกับปลูกเงินเอาไว้ในนาแล้ว จากเดิมที่ทำนาได้ข้าวแทบไม่พอกิน พอหมดหน้านาต้องขายแรงงานหารายได้มาจุนเจือครอบครัว และท้ายที่สุดด้วยต้นทุนการทำนาที่ไม่คุ้มกับรายรับทำให้พ่อบุญเต็ม ต้องหันกลับมาเดินตามแนวทางเกษตรแบบพึ่งตนเองเหลือกินแบ่งขาย เมื่อปี 2533 และกลายเป็นแบบอย่างให้ชาวบ้านดงบังไปปฏิบัติตาม
การพลิกผืนนา 11 ไร่ ที่ในอดีตปลูกข้าวได้ 350 ถัง แบ่งเป็นการขุดบ่อน้ำ 3 ไร่, สำหรับทำนาข้าว 4 ไร่ และ เป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลและสวนผัก 4 ไร่ และจากการจัดระบบที่ลงตัวการงดใช้ปุ๋ยเคมีโดยเน้นใช้ปุ๋ยคอกในการบำรุงดิน ทำให้ที่นาเพียง 4 ไร่ ผลิตข้าวได้ถึง 400 ถัง จากบ้านดงบังที่เป็นพื้นดินทรายสามารถพลิกฟื้นเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชได้ทุกชนิด จากผลการกระทำดังกล่าว ทำให้พ่อบุญเต็มได้รับการยกย่องให้เป็นวิทยากรการทำเกษตรพอเพียง ก่อนจะเปิดบ้านพักเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรแบบพอเพียง ทำให้มีผู้มาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดแนวทางการพัฒนาจากประสบการณ์จริง ไม่เว้นแต่ละวัน ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา
มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาไทอีสานคืนถิ่น ฐานพ่อบุญเต็ม มีการฝึกศึกษาหลักสูตร วปอ.ภาคประชาชน (วิทยากรกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง ภาคประชาชน) หลักสูตร 5 วัน ประสานร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดขอนแก่น อีก 2 ฐาน คือ พ่อทัศน์ กระยอม และพ่อผอง เกตุพิบูลย์ หลักสูตรที่ฝึกศึกษา คือ
1. เทคนิคการพึ่งตนเอง
2. การทำการเกษตรผสมผสาน
3. การปลูกผักปลอดสารพิษ
4. การเลี้ยงปลา
5 . การเลี้ยงสัตว์และแมลง
6. การปลูกและอนุรัษ์ป่า
7. หัถกรรมพื้นบ้าน
8. การแปรรูปผลผลิต
9. การตลาด
10. การออม
11. การปลดหนี้เรือนแสน
ในการอบรมมีการจัดทำแผนครอบครัว แผนชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยย้ายฐานอบรมตามฐานปราชญ์ชาวบ้าน ฐานละ 1 วัน เพื่อได้พบปะแลกเปลี่ยนแนวคิดและดูของจริง
จากการศึกษาวิถีชีวิตพ่อบุญเต็ม ท่านอาศัยหลักการสร้างความสุข 4 อย่างคือ
1) ท่านมีความภูมิใจ อิ่มเอิบใจในการมีโภคทรัพย์ที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของท่านเอง ดำรงตนอย่างพอเพียง ภูมิใจในความพยายามของตนเอง (อัตถิสุข สุขเกิดจากการมีทรัพย์)
2) ท่านมีความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนได้ใช้ทรัพย์โดยชอบธรรมในการเลี้ยงชีพและบำเพ็ญประโยชน์ (โภคทรัพย์)
3) มีความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนเองเป็นไท ไม่มีหนี้สิน (อนณสุข สุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้)
4) มีความภูมใจ อิ่มเอิบใจที่มีอาชีพทำโดยสุจริต (อนวัชชสุข ประกอบอาชีพที่ปราศจากโทษ)