โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข

   วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 น. นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มอบหมายให้ นางสาวอัญชนิดา กมลเพ็ชร พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นางเอกหทัย พนมอุปถัมภ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน นางธัญสินี แก้วศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางจงลักษณ์ อุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน  และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เข้ากราบนมัสการ พระโสภณพัฒนบัณฑิต, รศ.ดร. รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานโครงการวัด ประชารัฐ สร้างสุข และงานอื่น ๆ ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารอาคันตุกะ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
   กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม และสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร โดยมีเจตจำนงร่วมกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในการบูรณาการภาคีเครือข่ายและเชื่อมประสานงานให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ ส่งเสริมสัมมาชีพ สัมมาปฏิบัติ เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ สร้างความสุขสังคมไทยขยายผลช่วยสังคมโลกให้มีความสุขอย่างยั่งยืน และขับเคลื่อนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ด้านงานสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม พร้อมทั้งส่งเสริมการดำเนินงานให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างพระสงฆ์ ชุมชน ท้องที่ และท้องถิ่น ต่อไป
   สำหรับ “โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข” มีแนวคิดที่ว่า วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทย มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นเสาหลักในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ วัดจึงถือเป็นสถานที่สำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทย ต่อมาวัดกลายเป็นสถานที่ผู้คนในทุกระดับมาใช้จนทำให้วัดกลายเป็นที่สกปรก ไม่เรียบร้อย ขาดการวางระบบการจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับวัด รวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมและขยะภายในวัดยังไม่เป็นระบบ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น สถาบันอาศรมศิลป์ ได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้ดำเนินการพัฒนาโครงการวัดสร้างสุขและวัดบันดาลใจ เพื่อพัฒนารูปแบบและนำแนวคิด ๕ ส ซึ่งประกอบไปด้วย สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย ลงสู่บริบทของวัด เพื่อส่งเสริมให้วัดเป็นสถานที่ร่มรื่น สวยงาม เหมาะสมกับการเรียนรู้ เป็นพื้นที่แบบอย่างทางด้านกายภาพและด้านจิตใจ รวมถึงการนำแนวคิดการออกแบบพื้นที่ตามหลักภูมิสถาปัตยกรรมมาใช้ในการพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่สัปปายะ เป็นอารามที่รื่นรมย์ มีความสวยงามตามหลักภูมิสถาปัตยกรรมไทย เป็นศูนย์กลางของชุมชนที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างสุขภาวะทั้งทางด้านกายภาพ จิตใจ สังคม และปัญญาสืบต่อไป

   การเข้าพบ พระโสภณพัฒนบัณฑิต ในวันนี้ นางสาวอัญชนิดา กมลเพ็ชร พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น และคณะ ได้ร่วมหารือและวางแนวทางในการดำเนินโครงการ โดยการบูรณาการกิจกรรมต่าง ๆ ให้สามารถขับเคลื่อนไปในแนวทางเดียวกันแบบบูรณาการ ประกอบไปด้วย
1) กิจกรรมงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 26 มิถุนายน 2566
2) ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
3) การดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยฯ
4) การบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ
5) โคก หนอง นา สวนพุทธอารยเกษตร มจร. วิทยาเขตขอนแก่น
   โดยในเบื้องต้นกำหนดให้มีการนำหลัก 5ส  หลักสัปปายะ 7 และหลัก 3-5-79 ตามแนวทาง วัด ประชา รัฐ สร้างสุข เชื่อมการทำงานตามหลัก อ.ป.ต. (หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล) และการขับเคลื่อนหมู่บ้านศีล 5 เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวในทุกตำบลของจังหวัดขอนแก่น และให้อำเภอคัดเลือกตำบลต้นแบบการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ (1 อำเภอ 1 ศูนย์เรียนรู้)
   ในการนี้ ได้ร่วมติดตามผลการดำเนินงานโครงการ "โคก หนอง นา สวนพุทธอารยเกษตร มจร. วิทยาเขตขอนแก่น" ด้วย
มีผู้เข้าชมแล้วจำนวน : 61 ครั้ง