นิสิตเรียนรู้นอกสถานที่

 วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาไทย ในรายวิชา ภาษาและวัฒนธรรม ในปีการศึกษา ๒๕๖๓ หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมปัจจุบัน” ซึ่งได้กำหนดให้นิสิตต้องเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่ เพื่อให้เกิดประสบการณ์วิชาชีพครูในสถานศึกษา พระอาจารย์รชต กตปุณโญ ประธานหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษไทย จึงได้นำนิสิตชั้นปีที่ ๑ เข้าศึกษาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ สร้างองค์ความรู้จากแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ได้รับเกียรติจาก คุณแพรว ธนภัทรพรชัย เป็นวิทยากรบรรยายข้อมูลแหล่งเรียนรู้
 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รวบรวม สงวนรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุ อันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้เปิดให้บริการเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ขอนแก่น มีส่วนจัดแสดง ที่แบ่งตามยุคสมัยต่างๆ ที่น่าสนใจประกอบด้วย 
- ส่วนจัดแสดงที่ ๑ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงเรื่องราวในอดีตของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญแห่งหนึ่งของภาคอีสาน 
- ส่วนจัดแสดงที่ ๒ สมัยประวัติศาสตร์แรกเริ่ม และวัฒนธรรมทวารวดี ชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลายที่มีรูปแบบการอยู่อาศัยแบบสังคมเกษตรกรรม 
- ส่วนจัดแสดงที่ ๓ วัฒนธรรมเขมรโบราณ (ศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย) จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ภาคอีสานตอนบนในสมัย พุทธศตวรรษที่ ๑๖ (๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว) 
- ส่วนจัดแสดงที่ ๔ วัฒนธรรมล้านช้าง จัดแสดงเกี่ยวกับอิทธิพลของวัฒนธรรมล้านช้างจากอาณาจักรลาวแถบลุ่มแม่น้ำโขง และอิทธิพลวัฒนธรรมล้านนาจากภาคเหนือ 
- ส่วนจัดแสดงที่ ๕ สมัยรัตนโกสินทร์ จัดแสดงเกี่ยวกับการสร้างเมืองขอนแก่น
- ส่วนจัดแสดงที่ ๖ ห้องพื้นบ้านอีสาน จัดแสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมและประเพณีความเชื่อท้องถิ่น ของประชากรหลากเชื้อชาติที่อาศัยร่วมกันในภูมิภาคอีสาน 
- ส่วนจัดแสดงที่ ๗ อาคารจัดแสดงใบเสมา จัดแสดงใบเสมาหินทรายทั้งที่มีภาพสลักเล่าเรื่อง และมีจารึก ศิลาจารึก ชิ้นส่วนประติมากรรมหินทรายและส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทรายที่พบจากโบราณสถานในภาคอีสานตอนบน

มีนิสตบรรพชิตและคฤหัสถ์ เจ้าหน้าที่ คณาจารย์จำนวน ๓๐ รูป/คน ณ แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ขอนแก่น
ภาพข่าวโดย นักประชาสัมพันธ์องค์กร ม จ ร วิทยาเขตขอนแก่น
มีผู้เข้าชมแล้วจำนวน : 149 ครั้ง