คุณภาพการศึกษาระดับดีมาก

    ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2563 อยู่ในระดับ "ดีมาก" ได้คะแนน 4.53 จากคะแนนเต็ม 5 การประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับสถาบัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปีการศึกษา 2563 ได้ดำเนินการในวันที่ 26 – 28 ตุลาคม พ.ศ.2564 ตามกระบวนการในระบบประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย โดยใช้ตัวบ่งชี้และเกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบัน ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) 13 ตัวบ่งชี้ และตัวบ่งชี้เพิ่มเติมของมหาวิทยาลัยตามมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ.2561 จำนวน 7  ตัวบ่งชี้  ซึ่งประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ 1) การผลิตบัณฑิต 2) การวิจัย 3) การบริการวิชาการ 4) การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และ 5) การบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้น 20 ตัวบ่งชี้
    มีส่วนงานจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยใช้เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ EdPEx “Education Criteria for Performance Excellence” จำนวน 2 ส่วนงาน คือ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและวิทยาลัยสงฆ์นครน่านเฉลิมพระเกียรติฯ
    รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา เมฆขำ ประธานกรรมการ กล่าวถึงจุดเด่นของมหาวิทยาลัยว่า การบริหารจัดการหลักสูตรมีผลการประเมินระดับหลักสูตรในระดับดีมากและดีในสัดส่วนระดับที่สูง มหาวิทยาลัยมีระบบการตรวจสอบและติดตามงานวิจัยพร้อมทั้งผลักดันส่งเสริมให้คณาจารย์มีผลงานวิจัยเพื่อเสนอแหล่งทุนภายนอก การบริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนามีเครือข่ายความร่วมมือกับหลายภาคส่วนและมีการดำเนินงานร่วมกันจนเกิดผลสัมฤทธิ์ที่มีความยั่งยืนและมีผลกระทบระดับชาติ  มีความโดดเด่นด้านการจัดกิจกรรมเพื่อสืบสานรักษาและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและมีพื้นที่ทำงานทั่วประเทศ  ผู้บริหารระดับสูงมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการดำเนินการของมหาวิทยาลัยเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์การเป็น “มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาระดับโลก”
​    พร้อมกันนี้ ยังได้นำเสนอจุดที่มหาวิทยาลัยควรพัฒนา ไว้ว่า 1) ควรทบทวนการกำหนดศักยภาพของบุคลากรเพื่อรองรับการทำงานตามยุทธศาสตร์ในอนาคตและจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับทิศทาง โดยการพัฒนาบุคลากร 3 กลุ่ม (1) การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ (2) การพัฒนาสมรรถนะตามศาสตร์สาขา (3) การพัฒนาผู้บริหารยุคใหม่  2) ควรมีนโยบาย มาตรการ พร้อมทั้งหาเจ้าภาพหลักในการเลือกพื้นที่ต้นแบบ/ชุมชนต้นแบบ และสนับสนุนให้อาจารย์และนักวิจัยพัฒนานวัตกรรมต่อยอดเพื่อการใช้ประโยชน์ มีผลกระทบที่ก่อให้เกิดการพัฒนากลุ่มเป้าหมาย หรือพื้นที่รับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นเป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน  3) ควรทบทวนกระบวนการถ่ายทอดแผนพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงสอดคล้องกันรวมทั้งสื่อสารนโยบายสำคัญให้ชัดเจน นอกจากนี้ ควรทบทวนกระบวนติดตามผลการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการและแผนพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อให้ทราบผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานและปรับปรุงได้ทันเวลา 4) ควรพิจารณาการนำเกณฑ์คุณภาพระดับสากลมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทเพื่อความเป็นนานาชาติ และ 5) ควรตรวจสอบข้อกำหนดในการตรวจประเมินประกันคุณภาพภายนอก เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับการประเมิน


มีผู้เข้าชมแล้วจำนวน : 113 ครั้ง