โคก หนอง นา สวนพุทธอารยเกษตร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น

ความเป็นมาของ โคก หนอง นา สวนพุทธอารยเกษตร


เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง มหาดไทย ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ผ่าน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น บนเนื้อที่ ๑๐ ไร่ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา โมเดล

มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่นเป็นอีกหนึ่งสถาบันที่มีความสนใจที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด และพัฒนา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยการ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน เน้นประชาชนเป็น ศูนย์กลาง โดยการพัฒนาคนให้พึ่งตนเอง มีความเป็นเจ้าของ บริหารจัดการโดยชุมชน ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นสังคม “อยู่เย็น เป็น สุข” โดยใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นฐานของการพัฒนา มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันชุมชนที่อยู่บริเวณรอบพื้นที่มหาวิทยาลัย และบุคลากรของมหาวิทยาลัย มุ่งพัฒนาคนให้มีความรู้ และปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความุสุข มีอาชีพ สร้างรายได้ท่ามกลางวิกฤติโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการเข้าร่วมโครงการศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาเนื้อที่จำนวน ๑๐ ไร่ เป็นแหล่ง ผลิตอาหารป้อนโรงครัวทำอาหารถวายพระภิกษุสงฆ์ นิสิต และบุคลากรของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ในนาม “ โคก หนอง นา สวนพุทธอารยเกษตร มจร.ขอนแก่น”

วัตถุประสงค์
๑) เพื่อส่งเสริมการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล”
๒) เพื่อพัฒนาพื้นที่ “ โคก หนอง นา พุทธอารยเกษตร มจร.ขอนแก่น” ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ และเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ผู้นำทาง ศาสนา นิสิต และประชาชนทั่วไป
๓) เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)
๔) เพื่อสร้างแหล่งอาหารป้อนโรงครัวเลี้ยงพระสงฆ์ นิสิตนักศึกษาและบุคลากรของ มจร.