ความรู้เกี่ยวกับ พระบรมสารีริกธาตุ


พระบรมสารีริกธาตุ เป็นธาตุพิเศษอันเกิดจากพระวรกายของพระพุทธเจ้าผู้ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาธิคุณ ภายหลังการเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระบรมสารีริกธาตุจึงเป็นสิ่งมีคุณค่ายิ่งกว่าปูชนียวัตถุอื่นใดในโลกนี้ เพราะเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา

ความหมายและความสำคัญของพระบรมสารีริกธาตุ

การใช้ศัพท์เรียกกระดูกหรือส่วนที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธเจ้าที่ยังเหลือจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ จึงได้มีการบัญญัติศัพท์เรียกให้ชัดลงไปโดยเฉพาะว่า “พระบรมสารีริกธาตุ หมายถึง พระธาตุที่นับเนื่องหรือเป็นส่วนทางร่างกายหรือพระวรกายของพระองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับธาตุของพระอริยสาวก และมิได้หมายถึงพระธาตูเจดีย์ หรือธาตุสถูป” นอกจากนั้น ชาวพุทธยังถือคติว่า การสร้างพุทธเจดีย์ก็เพื่อบูชาพระพุทธคุณ จึงพยายามแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าแล้วสร้างสถูปหรือเจดีย์บรจุไว้เป็นที่สักการบูชา พระเจดีย์หรือพุทธเจดีย์ นิยมแบ่งเป็นชนิดต่างๆ ตามหน้าที่ของการสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ หรือวัตถุที่ใช้บรรจุไว้ในพระเจดีย์ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ปรินิพานไปแล้ว โดยได้แบ่งประเภทแห่งพระเจดีย์ไว้ 4 ประเภท คือ
   1. ธาตุเจดีย์ ได้แก่ เจดีย์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระธาตุของพระอรหันตสาวก เช่น ในประเทศไทยได้มีการสร้างพระเจดีย์สำคัญๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ พระธาตุพนม พระธาตุดอยสุเทพ พระบรมบรรพต(ภูเขาทอง)
   2. บริโภคเจดีย์ ได้แก่ สิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น สังเวชนียสถาน 4 ตำบล และมีการเพิ่มเข้ามาอีกว่า สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฎิหาริย์ สถานที่บรรจุพระอังคาร สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ สถานที่บรรจุทะนานโลหิตที่ตวงพระธาตุ ตลอดจนนับการรับพันธุ์พระศรีมหาโพธิ์ไปปลูกในสถานที่ต่างๆ เป็นบริโภคเจดีย์อีกด้วย และยังนับเครื่องบริขารของพระพุทธเจ้า มีบาตร จีวร บริขารพิเศษ มีธัมมกรก เสนาสนะ เตียง ตั่ง กุฏิ วิหาร เป็นต้น
   3. ธรรมเจดีย์ ได้แก่ การจารึกข้อพระธรรมไว้บูชา ในชั้นเดิมมักเลือกเอาข้อพระธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เช่น คาถาแสดงพระอริยสัจ 4 มาจารึกไว้บูชา ต่อเมื่อภายหลังมีการจารึกพระธรรมลงเป็นตัวอักษรแล้ว ก็นับพระไตรปิฎกเป็นธรรมเจดีย์เช่นเดียวกัน
   4. อุเทสิกเจดีย์ ได้แก่ สิ่งที่เราสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย โดยไม่มีการกำหนดรูปแบบอย่างชัดเจน อยู่นอกเหนือจากพุทธเจดีย์อย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสามข้อข้างต้นเช่น พระพุทธรูป พระผง พระเครื่อง พระพุทธบาท(จำลอง) ฯลฯ ทั้งนี้ รวมถึงพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุจำลองด้วย แต่ชั้นเดิม ในอินเดียยังไม่มีคติการสร้างรูปเคารพ จึงทำเป็นเครื่องหมายแทนพระพุทธองค์ เป็นต้นว่า รูปม้าผูกเครื่องอานเปล่าแทนตอนเสด็จออกพระมหาภิเนษกรมณ์ รวมถึงประติมากรรมต่างๆ ที่สร้างด้วยถาวรวัตถุมีค่ามากบ้าง น้อยบ้าง เช่น ทำด้วยเงิน ทอง แก้วมณี ศิลา โลหะ ดิน และไม้ เป็นต้น

พระบรมสารีริกธาตุจึงถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อชาวพุทเป็นอย่างมาก แม้ในการประพฤติปฏิบัติตามประเพณีต่างๆ มักจะนำพระบรมสารีริกธาตุเป็นสื่อนำการบำเพ็ญประเพณี เช่น ประเพณีขึ้นพระธาตุ ประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้น แม้ในการพระบรมศพก็มีการนำพระบรมสารีริกธาตุไปร่วมสมโภชด้วย ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชการที่ 2 ตอนหนึ่งว่า
“ถึง ณ วันเสาร์ เดือน 6 ขึ้น 5 ค่ำ เชิญพระบรมสารีริกธาตุแต่ในพระบรมมหาราชวังตั้งกระบวนแห่ออกไปยังพระเมรุมาศ ประดิษฐานพระเบญจาทอง พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรม เปรียญฝ่ายคามวาสี อรัญวาสี 80 รูป เจริญพระพุทธมนต์ มีหนัง จุดดอกไม้เพลิง เป็นการสมโภชพระบรมสารีริกธาตุวันหนึ่งคืนหนึ่ง...เวลาบ่ายทิ้งทานเวลาค่ำ จึงแห่พระบรมสารีริกธาตุกลับเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง”

เหตุเกิดพระบรมสารีริกธาตุ

การเกิดของพระธาตุเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ เพราะกระดูกที่เผาไฟหรือยังไม่เผาไฟก็ดี สามารถแปรเปลี่ยนเป็นผลึกรูปร่างต่างๆ สีสันสวยงาม คล้ายกรวด คล้ายแก้ว แม้กระทั่งผม เล็บ ฟัน ก็สามารถแปรเป็นพระธาตุได้เช่นตามคำอธิษฐานก่อนนิพพาน ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาพระไตรปิฎก ตลอดทั้งตำราพระธาตุโบราณได้กล่าวถึงเหตุที่ทำให้เกิดพระบรมสารีริกธาตุว่า เป็นพุทธประสงค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานซึ่งจะแตกต่างกันไปแต่ละพระองค์ โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
   1. พระพุทธเจ้าที่ทรงมีพระชนมายุยืนยาว สามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคง พระบรมสารีริกธาตุจะมีลักษณะรวมกันเป็นแท่งเดียว ดุจทองธรรมชาติ
   2. พระพุทธเจ้าที่ทรงมีพระชนมายุไม่ยืนยาว เช่น พระโคดมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ซึ่งมีเวลาปฏิบัติพุทธกิจเพียง 45 ปี ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพระพุทธเจ้าองค์ก่อนหน้า ได้ทรงอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แตกย่อยลงกระจายไปในที่ต่างๆ เพื่อที่พุทธศาสนิกชนจะได้นำไปเคารพสักการะ และเพื่อเป็นพุทธานุสติและธัมมานุสติ
    พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ได้ประดิษฐานอยู่บนมนุษยโลกชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนเมื่อพระพุทธศาสนาได้เสื่อมลง พระบรมสารีริกธาตุก็จะอันตรธานไป จึงเรียกว่า “ธาตุอันตรธาน” ซึ่งหมายถึงพระบรมสารีริกธาตุได้หายไป ไม่ปรากฏให้เห็น แต่ไม่ได้หมายความว่าสูญสิ้นไปจากโลก ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสกับพระอานนท์ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม”
    เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วผู้ประสงค์จะเห็นพระพุทธเจ้าขอให้อธิษฐานจิตบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนากล่าวคำอธิษฐานขอให้พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมา ณ ภาชนะหรือสถานที่เหมาะสมซึ่งจัดเรียมเอาไว้ เมื่อทำความดีถึงขั้น พระบรมสารีริกธาตุก็จะเสด็จมาตามที่ปรารถนา

การแบ่งพระบรมสารีริกธาต

เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรู ผู้เป็นพุทธบริษัทได้ทราบข่าวการปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ถึงกับวิสัญญีภาพ(สลบ) หลังจากคลายทุกขเวทนาก็มีดำที่จะขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากกษัตริย์เมืองกุสินารา พร้อมกันนั้นก็จัดเตรียมกองทัพไว้ด้วย หากไม่ได้พระบรมสารีริกธาตุแต่โดยดี นอกจากนี้ยังมีกษัตริย์จากเมืองต่างๆ ที่ได้ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธองค์ต่างก็ขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมทั้งยกทัพติดตามมาเช่นกัน รวม 6 เมือง และมีพราหมณ์อีก 1 เมือง ได้แก่
   1. พระเจ้าอชาตศัตรู เมืองราชคฤห์
   2. กษัตริย์ศากยราช เมืองกบิลพัสดุ์
   3. กษัตริย์ลิจฉวี เมืองเวสาลี
   4. กษัตริย์ถูลิยะ เมืองอัลลกัปปะ
   5. กษัตยริย์โกลิยะ เมืองรามคาม
   6. กษัตริย์มัลละ เมืองปาวา
   7. มหาพราหมณ์ เมืองเวฎฐทีปกะ
   โดยกองทัพทั้ง 7 ได้ตั้งค่ายล้อมเมืองกุสินาราไว้ ร้องประกาศให้รีบแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแต่โดยดี มิเช่นนั้นจะเกิดสงครามแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ ฝ่ายกษัตริย์เมืองกุสินาราก็ไม่ทรงยินยอม จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น
    ขณะนั้พราหมณ์ผู้หนึ่งนามว่า “โทณะ” ซึ่งเป็นอาจารย์ของกษัตริย์เหล่านั้นได้ยินการโต้เถียงรุนแรงขึ้น จึงได้ออกไประงับเหตุทะเลาะวิวาทดังกล่าว และประกาศว่าจะแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนให้เท่าๆ กัน จะได้อัญเชิญไปบรรจุในสถูปทุกๆ พระนคร เป็นที่กราบไหว้บูชาของมหาชน กษัตริย์ทั้งหลายได้ฟังดังนั้น ต่างเห็นดีด้วยกับวิธีการดังกล่าว
   บรรดากษัตริย์ทั้งหลายพอได้ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุก็ต่างร่ำไห้รำพันต่างๆ นาๆ ฝ่ายโทณพราหมณ์เห็นบรรดากษัตริย์ต่างๆ กำลังเศร้าโศกเสียใจ จึงได้แอบหยิบเอาพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาด้านบนซ่อนไว้ในผ้าโพกศรีษะ แล้วดำเนินการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุโดยใช้ทะนานตวงได้ทั้งหมด 16 ทะนาน แบ่งให้พระนครทั้ง 8 ได้นครละ 2 ทะนาน
   องค์อัมรินทราธิราชทอดพระเนตรเห็นโทณพราหมณ์แอบซ่อนพระเขี้ยวแก้วเอาไว้ ทั้งๆ ที่ตนเองไม่สามารถจำทำสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเพื่อเป็นที่สักการะบูชาอันเหมาะสมได้ จึงลงมานำเอาพระเขี้ยวแก้วนั้นไปบรรจุในพระโกศทอง แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานในพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ ฝ่ายโทณพราหมณ์เมื่อคลำหาพระเขี้ยวแก้วก็ไม่พบ จึงได้ขอทะนานสำหรับตวงพระบรมสารีริกธาตุไปก่อสถูปบรรจุไว้สักการะ

ต่อมากษัตริย์เมืองโมริยะได้สดับข่าวพระพุทธองค์ดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว จึงส่งราชทูตมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุบ้าง แต่พระบรมสารีริกธาตุได้ถูกแบ่งไปยังนครต่างๆ หมดแล้ว จึงได้นำพระอังคาร (เถ้า) กลับสู่พระนคร สร้างสถูปบรรจุเป็นสถานที่สักการะบูชา

 สถานที่แบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุ